วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

กฎกติกา มารยาท การขับขี่ ออกทริปรถมอเตอร์ไซค์

      วันนี้เรามาทำความรู้จัก กฎกติกา มารยาท การขับขี่ ออกทริปรถจักรยานยนต์กันสักเล็กน้อยดีกว่าครับ ซึ่งตัวผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆท่านที่จะเตรียมตัวออกเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ เพื่อความปลอดภัยและความไม่ประมาทครับผม




กฎกติกา มารยาท การขับขี่

       การขับขี่รถมอเตอร์ไซด์คันใหญ่และมีกำลังเครื่องยนต์ที่มากสามารถกำหนดความเร็วได้
สูงกว่ารถมอเตอร์ไซด์คันเล็กทั่วไปที่มีวิ่งอยู่ตามท้องถนนเมืองไทยของบ้านเรา
จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และให้ความสำคัญกับการขับขี่ที่ถูกต้องและปลอดภัยทั้งตัวผู้ขับขี่เอง
และบุคคลอื่นที่อยู่บนท้องถนนเช่นกัน ในการขับขี่บนถนนทั่วไปไม่ว่าจะขับขี่คนเดียว
หรือไปเป็นกลุ่ม จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวัง และเตือนใจตัวเองเสมอเลยนะครับ
ว่าปลอดภัยไว้ก่อน รู้จักเห็นอกเห็นใจบุคคลอื่นที่ใช้ท้องถนนเช่นเดียวกับเราเหมือนกัน




หลักการปฏิบัติในการขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ (เฉพาะประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ)

1. เตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทาง (รถพร้อม คนพร้อม)
รถพร้อม
- เอกสารสำเนาทะเบียนรถ ป้ายวงกลม และพรบ.ยังไม่ขาดอายุ
- ไฟหน้ารถ ไฟท้าย ไฟเลี้ยว ซ้าย ขวา และแตรรถ ที่ทำงานปกติ
- ตรวจดูลมยางรถ หน้า หลัง และสภาพยางที่สามารถใช้งานได้ทุกสถานการณ์
- น้ำมันรถ น้ำมันเครื่อง หม้อน้ำอยู่ในสภาพปกติ
- เครื่องมือที่จำเป็นยามเกิดเหตุฉุกเฉิน
คนพร้อม
- สภาพร่างกายที่สมบูรณ์ พร้อมในการขับขี่
- ใบอนุญาตขับขี่มอเตอร์ไซด์
- หมวกกันน็อค ถุงมือ รองเท้าหุ้มข้อ กระเป๋าเดินทาง ถ้าจำเป็นต้องขนสัมภาระ



2. การขับขี่แบบหลายคันหรือเป็นหมู่คณะ
การขับขี่แบบสลับฟันปลาเป็นการจัดตำแหน่งเพื่อให้เราทราบว่าตัวเราเองและบุคคลอื่นที่ขับขี่ไปด้วยกัน ต้องรู้จักตำแหน่งและลำดับในการขับขี่ที่เหมาะสม สมควรมีระยะเว้นช่องว่าง ซ้าย ขวา หน้า หลัง ไม่ต่ำกว่า 10-20 เมตร ขึ้นอยู่กับความเร็วในการขับขี่ด้วยกันทั้งหมดเพื่อให้แต่ละคันได้มีระยะเบรกและการมองเห็นถนนข้างหน้าได้ดีขึ้นเมื่อจำเป็นต้องหยุดกระทันหัน และมีการให้สัญญาณต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง
สิ่งที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง และไม่สมควรจะปฏิบัติ
- ไม่ควรแซงผู้นำจนกว่าจะได้สัญญาณให้แซงเกิดขึ้น
- ไม่ขับขี่แซงกันเองโดยไม่จำเป็น เนื่องจากผู้ตามขบวนทั้งหมดต้องพยายามรักษาลำดับการขับขี่ ซ้ายหรือขวาให้แน่นอน เพราะเมื่อเกิดการแซง หรือเปลี่ยนตำแหน่ง ก็จะทำให้ทุกคันข้างหลังต้องเปลี่ยนลำดับไปด้วยทั้งหมด
- ไม่สมควรที่จะขับขี่แซงซ้าย รถยนต์ รถบันทุก หรือรถทุกๆประเภท หัวหน้าหรือผู้นำขบวนมอเตอร์ไซด์ในการแซงจะเป็นผู้กำหนดลักษณะการแซง มักจะให้สัญญาณแนวตรง เรียงลำดับ 1 2 3 เมื่อขอสัญญาณแซงขวาไปแล้ว รถที่ถูกแซงก็จะรู้ว่าขบวนมอเตอร์ไซด์ทั้งหมดกำลังขอทางแซงขวามาจากทางด้านหลัง ซึ่งเขาสามารถสังเกตไฟหน้ารถมอเตอร์ไซด์ได้จากกระจกมองหลังเป็นทางเดียวกัน ก็มักจะหลบให้ตามมารยาทที่ดี แต่เมื่อมีคันหนึ่งคันใดแซงซ้ายขึ้นมา ก็จะทำให้คนขับรถยนต์ที่ถูกแซงไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าขบวนทั้งหมดจะแซงด้านใดแน่ โดยส่วนมากแล้วเขามักจะหักหลบมาด้านซ้ายในฐานะรถวิ่งช้าวิ่งช่องทางซ้าย ก็จะทำให้รถมอเตอร์ไซด์ที่แซงซ้ายมีโอกาสโดนกระแทกหรือเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา และในการแซงซ้ายถือเป็นการผิดกฎหมายจราจรเช่นกัน

3. การให้สัญญาณไฟ และสัญญาณมือ 
- การให้สัญญาณไฟ ในการเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ต้องมีระยะทางไม่ต่ำกว่า 60-100 เมตร หรือไม่ต่ำกว่า 30 วินาที- 1 นาที พร้อมๆไปกับการให้สัญญาณมือถ้าสามารถกระทำได้
- เมื่อรถในกลุ่มหรือขบวนที่มาด้วยกันเกิดมีปัญหา ก็ให้รถคันหลังจากคันที่เสีย หยุดลงทั้งหมด เว้นแต่ตกลงกันก่อนแล้วว่ามีรถบริการซ่อมตามมาด้านหลังสามารถช่วยเหลือได้ สามารถให้ขบวนไปกันต่อได้เลยโดยไม่ต้องหยุดกันทั้งหมด
- เมื่อรถแต่ละคันไม่สามารถมองเห็นรถคันที่ตามมาด้วยกระจกมองหลัง ก็ให้ชลอความเร็วลดลง หรือหยุดจอดก่อน และคันที่อยู่นำหน้าแต่ละคันให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน จึงเป็นการง่ายต่อการรักษาระยะห่างของกลุ่มทั้งหมดจะได้ไม่มีการหลุดขบวน และเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถแก้ไขปัญหากันได้ทันเวลา



4. การรักษาเวลา
- เริ่มกันตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง ผู้นำ จะเรียกทุกท่านเข้ามาจัดประชุมกันทั้งหมดใช้เวลากันเล็กน้อย 5-10 นาที เพื่อนัดหมายตารางการขับขี่การเดินทาง และการกำหนดตำแหน่งของแต่ละบุคคลที่จะเริ่มการขับขี่ด้วยกันหลังจากนี้
- เมื่อได้เวลาที่จะออกเดินทางหลังจากจอดพัก เติมน้ำมันหรือรับประทานอาหาร สมควรที่จะให้มีผู้หนึ่งผู้ใดประกาศเวลาจะออกเดินทางอีก 10 นาที และเหลืออีก 5 นาที เพื่อทุกคนได้เตรียมพร้อมสวมเสื้อขับขี่ หมวกกันน็อค ถุงมือ แว่นตา และตรวจความเรียบร้อยทุกๆอย่าง จึงเดินทางไปด้วยกัน


หมายเหตุ
1. กฎหมายไทยระบุแน่ชัดว่ารถมอเตอร์ไซด์ทุกประเภท ทุกขนาดเครื่องยนต์ ให้วิ่งช่องทางเดินซ้ายสุด ที่นำมาเสนอในเรื่องนี้มิได้มีเจตนาที่จะฝ่าฝืนกฎหมายจราจรของไทยแต่เพียงอย่างใด แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับการขับขี่ในชีวิตจริงๆบนท้องถนนในเมืองไทยของเราเท่านั้น โดยผู้มีประสบการณ์จริงๆใช้ชีวิตในการขับขี่มอเตอร์ไซด์บนท้องถนนทุกๆเดือนไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 กิโลเมตร
2. การขับขี่ร่วมกัน การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่เราสมารถป้องกันได้โดยวิธีการไม่ประมาท และการเรียนรู้การขับขี่ที่ถูกต้องวิธีนะครับ


ที่มา คอลัมน์ RIDER ETIQUET นิตยสาร Ride Thailand